Legal Services & Resources
Up to date legal information pertaining to Thai, American, & International Law.
Contact us: +66 2-266 3698
สงครามเงินสดมาถึงประเทศไทยแล้วหรือ?
For the English transcript of this video please go the following link:
https://www.legal.co.th/index.php/resources/search/?search_paths%5B%5D=&query=digital+currency
วีดีโอเรื่องนี้จะกล่าวถึงสิ่งที่เรียกกันว่า “สงครามเงินสด” ซึ่งผมเห็นคำนี้ใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วอินเทอร์เน็ตในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากความพยายามที่จะเลิกใช้เงินสดในสถานที่ต่างๆมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ยังมีการพูดกันถึงเงินสกุลดิจิตัลของธนาคารกลาง ซึ่งไม่เหมือนกับเงินดิจิตัลประเภท bitcoin หรือ ethereum ผมไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องเงินสกุลคริปโตแต่ผมเข้าใจอย่างดีว่าเงินสกุลดิจิตอลของธนาคารกลางคืออะไร ความหมายคือ ธนาคารกลางทั้งหลาย จะสามารถติดตามและค้นหาร่องรอย การดำเนินธุรกรรมทางการเงินเป็นหลัก และจะนำระบบดิจิตตัลแบบ ติดตามและค้นหาร่องรอย หรือ track and trace มาใช้แทนเงินสด ผมนึกถึงประเด็นนี้เมื่อผมอ่านบทความใน Thai PBS World, thaipbsworld.com, หัวข้อเรื่องว่า: กฎระเบียบใหม่สำหรับตู้ฝากเงินสดเริ่มจาก 15 พฤศจิกายน กล่าวคือ: "จากวันที่ 15 พฤศจิกายนเป็นต้นไป บุคคลทั้งหลายที่ต้องการฝากเงินผ่านตู้ฝากเงินสดในประเทศไทย จะต้องแสดงอัตลักษณ์โดยการสอดบัตรเครดิตหรือเดบิตของตน พร้อมทั้งใส่รหัสประจำตัวเข้าไปด้วย (PIN) มาตรการใหม่นี้มาจากสำนักงานป้องกันและ ปราบปรามการฟอกเงิน ซึ่งจะใช้กับธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งเพื่อป้องกันการฟอกเงินจากการค้ายาเสพติด รวมทั้งการพนันที่ผิดกฎหมาย และกิจกรรมอื่นๆที่เป็นอาชญากรรม" โอ้โห!ผมจะเริ่มตรงไหนดี? สิ่งนี้คงจะไม่ใช่เรื่องเดียวกัน แต่ผมได้เห็นบทความในอินเทอร์เน็ตจากแหล่งที่เชื่อถือได้ ที่พูดถึงความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะมีเงินสกุลดิจิตัลของตัวเอง ซึ่งแน่ล่ะว่าเราคงยังไม่ไปถึงจุดนั้น แต่นี่ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญทีเดียว
สำหรับผู้คนที่อาจยังไม่รู้ ปัจจุบันมีการฝากเงินสดผ่านทางตู้ฝากเงินสดกันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะเงินที่มาจากภาคเศรษฐกิจของประเทศ บรรดาร้านค้า รถเข็นต่างๆ ไม่ต้องการที่จะหิ้วเงินสดจำนวนมากๆไปๆมาๆ ก็จะอาศัยการฝากเงินสดในตู้ ATM ซึ่งมักจะทำกันนอกเวลาทำการของธนาคาร เพราะไม่ใช่ว่าพวกเขาจะสามารถเดินเข้าไปฝากเงินในธนาคารได้ในช่วง เวลา 9 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น พวกเขาจำเป็นต้องฝากเงินนอกเวลาทำการของธนาคาร ผมรู้สึกกังวลนิดหน่อย เพราะบอกตามตรงว่า ทุกครั้งที่ได้ยินเกี่ยวกับ "การฟอกเงิน" ผมจะเกิดอาการหูร้อนขึ้นมาทันที ก็เพราะถ้าย้อนกลับไปในช่วงปี 1987 หรือก่อนหน้านั้น ไม่เคยมีคำว่า "ฟอกเงิน" แนวความคิดนี้เกิดขึ้นในยุค ‘80 มันเป็นเพียงทฤษฎีทางกฎหมาย และไม่ได้มีอยู่จริง จุดยืนของผู้คนในเวลานั้นซึ่งผมคิดว่าเป็นจุดยืนที่ถูก คือ เฮ้ยเงินของคุณคือเงินของคุณ คุณจะใช้ไปทำอะไรก็เรื่องของคุณ แต่พอถึงเวลานี้ ผมไม่รู้จะพูดยังไงดี คือได้มีการผสมปนเปแนวความคิดหลายอย่างเข้าด้วยกัน เช่นการค้ายาเสพติด การพนันที่ผิดกฎหมาย รวมทั้งกิจกรรมอื่นๆที่เป็นอาชญากรรม เอาล่ะ สำหรับการกระทำอื่นๆที่เป็นอาชญากรรมนั้นผมเข้าใจได้ คือเราสามารถจะพูดได้ว่าทุกอย่างได้ถูกออกแบบมาเพื่อที่จะต่อต้านกิจกรรมทางอาชญากรรม แต่เรื่องการค้ายาและการพนันที่ผิดกฎหมายเนี่ยะมันจริงหรือ? ผมมั่นใจอย่างมากว่าผู้ค้ายาเสพติดโดยเฉพาะผู้ค้ายาเสพติดรายใหญ่ คงจะไม่นำเงินเป็นล้านๆไปฝากเข้าตู้ ATM ในเวลา 22:00น ตอนกลางคืน แต่คนที่ขายอาหารข้างทางที่ทำรายได้เพียง 8,500 บาท ซึ่งไม่ต้องการที่จะหิ้วเงินสดติดตัวไปไหนต่อไหน เพราะมันเป็นค่าใช้จ่ายที่จะต้องใช้ในวันรุ่งขึ้น เขาก็จะนำเงินไปฝากที่ตู้ ATM เพื่อให้หมดกังวล เขาจะได้รับใบเสร็จคืนมาเป็นการยืนยันว่าเงินของเขาอยู่ในบัญชีของตัวเองแล้ว หมดกังวลไปได้แล้ว เพราะฉะนั้น ในแง่ของการค้ายาเสพติดจึงมีปัญหากับผมมากถ้าจะให้เชื่อแบบนั้น ผมอาจจะผิดก็ได้ แต่ผมคิดว่าเป็นการยากที่ผมจะให้ผมเชื่อว่าอาชญากรอย่างไอ้หน้าบากจะเลือกใช้ตู้ ATM ในประเทศไทยเป็นเครื่องมือในการเคลื่อนย้ายเงินสดเป็นจำนวนมากๆ เพราะตู้ ATM ไม่ได้ออกแบบเพื่อทำเช่นนั้น ส่วนการพนันที่ผิดกฎหมาย ผมก็มองว่าน่าสนใจเพราะในเวลานี้ก็มีการพูดคุยอย่างจริงจังเรื่องการทำให้การพนันเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายในประเทศไทย คำถามของผมคือ มันเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นต้องทำอย่างนั้นจริงๆ หรือเป็นเพียงความต้องการที่จะเฝ้าติดตามแกะรอยในเรื่องธุรกรรมทางการเงินกันแน่? เพราะถ้าเป็นการเฝ้าติดตามแกะรอยในเรื่องธุรกรรมทางการเงิน ก็ควรจะออกมาพูดอย่างตรงๆมากกว่า เพราะอย่างน้อยก็เป็นการแสดงความซื่อสัตย์ คือ "เอาล่ะ เราจะทำแบบนี้"
อย่างที่ผมว่า ผมมีปัญหาในแนวความคิดเกี่ยวกับการฟอกเงินและผมเข้าใจดีว่ามันเป็นอย่างหนึ่งที่เมื่อทำขึ้นมาก็จะเกิดปัญหาตามมา ถ้าคุณกลับไปอ่านกฎหมายดูก็จะรู้ เหมือนกับที่ผมได้อ่านมามากสมัยเรียนในมหาวิทยาลัย ซึ่งทำให้ผมรู้เรื่องนี้ดี ผมได้ทำโครงการที่ผมต้องเข้าไปศึกษาอย่างละเอียดในเรื่องกฎหมายเกี่ยวกับการฟอกเงิน และก็พบว่า มันก็เป็นเรื่องปกติธรรมดาในการทำงานของรัฐบาล รัฐบาลจะออกมาบอกว่า "สิ่งที่ทำขึ้นมานี้มีความมุ่งหมายที่จำกัดมาก เพื่อที่จะจัดการกับเรื่องนี้โดยเฉพาะเท่านั้น" แต่พอผ่านไปก็มีการใช้ทั่วไปหมด คุณจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องการต่อต้านการฟอกเงินนี่ตลอดเวลา มันจะเป็นเหมือนคำพูดติดปากทุกคน ที่จะทำให้ทุกครั้งที่พูดขึ้นมาจะเกิดความรู้สึกว่า "จริงด้วย เราต้องทำแบบนั้น" คล้ายกับการที่สมองของผู้คนถูกลัดวงจร จนพวกเขาไม่ทันได้คิดว่ากำลังทำอะไรอยู่ และเมื่อไต่ตรองทุกอย่างแล้วก็จะเห็นว่า สิ่งที่ทางการกำลังทำอยู่ก็คือ สร้างความยุ่งยากให้กับคนที่จะนำเงินสดไปฝากเข้าบัญชีของตนผ่านเครื่อง ATM ซึ่งแม้จะไม่ได้ยุ่งยากมากนักเพราะเพียงนำบัตรไปเสียบ แต่ในความเป็นจริงก็คือ ได้มีการเฝ้ามองดูว่าบัตรถูกนำไปเสียบที่ไหน เพราะฉะนั้นจึงเป็นการลดความเป็นส่วนตัวของผู้คนอย่างแน่นอนโดยเฉพาะในแง่ที่เกี่ยวกับธุรกรรมทางการเงิน